แผนบุก AEC ชู 8 สินค้ายึดตลาดอาเซียน ของกระทรวงพาณิชย์
นายยรรยง พวงราช ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยถึงแผนการเตรียมความพร้อมในการเข้าสู่การเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ในปี 2558 ว่า ได้มีการกำหนดสินค้าเป้าหมายของกระทรวงพาณิชย์ที่จะผลักดันเข้าสู่ตลาด AEC จำนวน 8 กลุ่มสินค้า ได้แก่ อาหาร ชิ้นส่วนยานยนต์ ท่องเที่ยว สุขภาพและความงาม วัสดุก่อสร้างแฟชั่น เฟอร์นิเจอร์และเครื่องตกแต่ง และเครื่องจักรกลเนื่องจากเห็นว่าเป็นสินค้าที่ไทยมีขีดความสามารถ และควรที่จะผลักดันให้ใช้ประโยชน์จาก AEC เป็นฐานการผลิต การค้า และการลงทุน
ยกตัวอย่างเช่น สินค้าอาหาร หลายๆรายการ ไทยต้องพึ่งพาวัตถุดิบจากต่างประเทศก็ต้องมีแผนว่าไทยจะใช้อาเซียนเป็นฐานการผลิตเพื่อป้อนวัตถุดิบให้ไทยได้มากน้อยแค่ไหนจะไปลงทุนผลิตในประเทศใด หรือกลุ่มชิ้นส่วนยานยนต์ ไทยมีเป้าหมายเป็นศูนย์กลางการผลิตของอาเซียน ก็ต้องมองหาวัตถุดิบจากอาเซียนอื่นๆ มาช่วยสนับสนุนอุตสาหกรรมของไทยหรือสิ่งทอ ไทยและอินโดนีเซียมีความเข้มแข็งในการผลิตสินค้าต้นน้ำ คือ เส้นใย ก็ต้องช่วยกันผลิต อย่าแข่งกันเอง และประเทศกลุ่มCLMV มีความได้เปรียบเรื่องค่าจ้างแรงงาน และการตัดเย็บ ก็ต้องหาแนวทางความร่วมมือในการเข้าไปตัดเย็บ ส่วนไทยก็อาจต้องปรับมาผลิตสินค้าไฮเอนด์หรือสินค้าแฟชั่นเพื่อจับตลาดบนแทน เพื่อหลีกเลี่ยงการแข่งขัน
แนวทางในการพัฒนาความพร้อมด้านกำลังคนของกระทรวงพาณิชย์ มี 2 แนวทาง คือกำลังคนส่วนแรกจะเป็นผู้จัดทำนโยบาย แผนงาน และยุทธศาสตร์ในการขับเคลื่อนสู่ AEC โดยมีกลุ่มสินค้าและบริการเป็นเป้าหมาย และอีกส่วนจะเป็นผู้ขับเคลื่อนตามนโยบายไปสู่ภาคปฏิบัติ โดยเชื่อมโยงกับผู้ประกอบการในกลุ่มต่างๆ เพื่อให้ใช้ประโยชน์จาก AEC ได้อย่างเต็มที่ทั้งนี้ ได้กำหนดยุทธศาสตร์ในสินค้าและบริการ ดังนี้ ธุรกิจบริการด้านสุขภาพ และความงาม การศึกษา ก่อสร้าง โลจิสติกส์ ให้กรมส่งเสริมการส่งออกรับผิดชอบในเรื่องนโยบาย แผนงาน และกำลังคน ธุรกิจคนต่างด้าว ระบบ Single Point สำหรับบริการนักธุรกิจ ให้กรมพัฒนาธุรกิจการค้ารับผิดชอบการค้าชายแดน ให้กรมการค้าต่างประเทศและสำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์ร่วมกันรับผิดชอบ ธุรกิจค้าปลีก-ค้าส่ง และธงฟ้า ให้กรมการค้าภายในรับผิดชอบ หน่วยธุรกิจสร้างสรรค์ให้กรมทรัพย์สินทางปัญญารับผิดชอบ
การปรับแผนในการเข้าสู่ AEC ที่กล่าวมาทั้งหมด เป็นแนวทางที่ยึดกลุ่มสินค้าและบริการเป็นหลัก โดยมองว่าเป็นกลุ่มที่ไทยแข็งแกร่ง และแข่งขันได้ และจะใช้ประโยชน์จาก AEC ได้ เราจะไม่มองว่า สินค้านั้น สินค้านี้ เราแข่งไม่ได้ เราจะต้องปรับตัวอย่างไร เพราะมันเลยขั้นนั้นมาแล้ว เราต้องมองว่า ถ้า AEC มาเราจะร่วมมือกับอาเซียนอื่นๆ ในการใช้ประโยชน์จาก AECได้อย่างไร โดยหากใช้วิธีการนี้ เชื่อว่าเป้าหมายที่จะผลักดันให้การค้าในอาเซียนเติบโตปีละ 20% คงทำได้ และน่าจะโตได้มากกว่านี้
ที่มา : ASTV ผู้จัดการรายวัน