tag

การลงทุนภายในประเทศไทย เพื่อรองรับการรวมตัวเป็น AEC

การลงทุนภายในประเทศ เพื่อรองรับการรวมตัวเป็น AEC

    
   เป็นที่รับทราบกันโดยทั่วไปว่า ประเทศของเราไม่มีการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานระบบรางอย่างจริงจังเป็นเวลานานแล้วมีความพยายามทำให้เกิดขึ้นในหลายรัฐบาลแต่ก็ติดปัญหาเสถียรภาพทางการเมืองและความต่อเนื่องของการทำงาน รวมทั้งข้อจำกัดทางด้านงบประมาณ พ.ร.บ. เงินกู้ 2 ล้านล้านบาททำให้เกิดความมั่นใจต่อแหล่งเงินทุนที่จะนำมาลงทุนโครงการระบบขนส่งและโลจิสติกส์เพื่อให้เป็นไปตามเป้าหมายและยุทธศาสตร์ได้


ในการจัดทำโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน 2 ล้านล้านบาท รัฐบาลอาจไม่จำเป็นต้องกู้เงินมาลงทุนทั้งหมดก็ได้ รัฐบาลสามารถปรับเปลี่ยนโดยการระดมทุนในรูปของกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานก็ได้ ทำในรูปของ PPP – Public Private Partnership หรือ ให้สัมปทานกับเอกชนก็ได้ แต่ต้องเริ่มต้นด้วยการใช้เงินกู้ในการลงทุนก่อนในช่วงแรก การเรียงลำดับความสำคัญของโครงการลงทุนเป็นเรื่องสำคัญเนื่องจากประเทศมีทรัพยากรจำกัดและยังมีกรอบความยั่งยืนทางการคลังเป็นเพดานควบคุมการก่อหนี้สาธารณะเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาต่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจในระยะยาว
มีหลายประเด็นที่มีการวิพากษ์วิจารณ์กัน เช่น ทำไมต้องกู้เงินนอกงบประมาณปรกติ ?
ประเด็นนี้ มีเหตุผลในแง่ที่ว่า งบประมาณปรกติมีเม็ดเงินไม่เพียงพอ และ ยังอาจจะทำให้เกิดปัญหาความไม่ต่อเนื่องของการลงทุน ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับการกู้เงินนอกงบประมาณก็บอกว่าทำไมไม่ทำเป็นงบผูกพันในงบประมาณปรกติไปหลายๆ ปี แต่ปัญหาของวิธีนี้ก็คือ จะมีความมั่นใจได้อย่างไรต่อแหล่งเงินทุนและความต่อเนื่องของโครงการ ส่วนการกู้เงินนอกงบประมาณ ก็ต้องแก้ปัญหาประเด็น – เรื่องความโปร่งใสและการป้องกันการทุจริตคอร์รัปชัน ให้ดี เพราะการกู้ในงบประมาณปรกติย่อมมีขั้นตอน กลไกที่เข้มงวดกว่าการกู้นอกงบประมาณ ฉะนั้น พ.ร.บ. เงินกู้ 2 ล้านล้านบาท จึงต้องเพิ่มกลไกในการตรวจสอบควบคุมการใช้เงินกู้ให้เป็นไปตามเป้าหมายด้วยความโปร่งใส มีประสิทธิภาพและเป็นไปตามยุทธศาสตร์รวมทั้งการเกิดบูรณาการที่เป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ
หนี้สาธารณะเป็นปัญหาจริงหรือไม่หลังกู้เงินเพื่อลงทุนโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจ 2 ล้านล้านบาท เป็นอีกประเด็นหนึ่งที่สาธารณชนให้ความสนใจ
เมื่อพิจารณาจากการประมาณการของสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ กระทรวงการคลังพบว่า เมื่อรวมเงินกู้ 2 ล้านล้านบาทกับหนี้สาธารณะที่มีอยู่ ใน 5 ปีข้างหน้าระดับหนี้สาธารณะต่อ GDP จะยังไม่เกินร้อยละ 50 โดยดูรายละเอียดได้จากตาราง กรอบความยั่งยืนทางการคลังกำหนดให้สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพีไม่เกินร้อยละ 60 และภาระหนี้ต่องบประมาณไม่เกินร้อยละ 15 หากเศรษฐกิจไทยสามารถมีอัตราการขยายตัวได้ในระดับ 5-6% โดยเฉลี่ยในระยะห้าปีข้างหน้า ผมคาดการณ์ว่าจะไม่มีปัญหาวิกฤตการณ์หนี้สาธารณะแต่อย่างใด การไม่ลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจต่างหากที่จะทำให้ไทยมีอัตราการเติบโตที่ต่ำและสูญเสียโอกาสของการเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจ การขนส่งคมนาคมและการลงทุนในหลายทศวรรษข้างหน้า
ไม่ว่าจะระดมทุนด้วยวิธีไหนก็ตาม ความจำเป็นในการลงทุนต้องเกิดขึ้นเพื่อยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันและทำให้ไทยไม่สูญเสียโอกาสทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ขณะเดียวกัน เวลานี้ โครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจยังไม่เพียงพอกับความต้องการในอนาคต ภาครัฐต้องมีบทบาทนำในการสร้างโครงสร้างพื้นฐานเพื่อสนับสนุนการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศในระยะที่ผ่านมา มีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทั้งทางบก ทางเรือ และทางอากาศ โดยมีสัดส่วนการขนส่งผู้โดยสารภายในประเทศไทย โดยทางถนนร้อยละ 74 ทางรถไฟร้อยละ 21 ที่เหลือเป็นทางอากาศร้อยละ 5 สำหรับการขนส่งสินค้านั้น ส่วนใหญ่เป็นการขนส่งทางถนน ร้อยละ 82 ทางน้ำร้อยละ 15 และทางรถไฟร้อยละ 3
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศในระยะที่ผ่านมา จะประสบความสำเร็จในด้านปริมาณ แต่ยังต้องพัฒนาด้านคุณภาพให้มากขึ้นแล้ว และสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน นอกจากนี้ ข้อจำกัดด้านการคลังเนื่องจากการลงทุนต้องใช้เงินจำนวนมากขณะที่งบประมาณมีสัดส่วนของค่าใช้จ่ายประจำเกือบ 80% จึงเหลือเงินในแต่ละปีเพื่อการลงทุนด้านต่างๆ ไม่ถึง 20% นอกจากนี้ การลงทุนโดยภาครัฐยังเผชิญกับ กฎ ระเบียบ และหลักเกณฑ์ที่บังคับใช้ไม่สอดคล้องและเหมาะสมกับสถานการณ์ในปัจจุบัน ซึ่งส่งผลให้การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานล่าช้าและเป็นอุปสรรคต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศในระยะยาวและทำให้ความสามารถในการแข่งขันลดลง
ไทยยังมีปริมาณและคุณภาพระบบการขนส่งทางบก ทางน้ำ ทางอากาศ และทางเรือที่ต่ำและเมื่อเทียบกับต่างประเทศยังอยู่ในระดับที่แย่กว่าญี่ปุ่น สิงคโปร์ และมาเลเซีย มีเหตุมาจากขาดการบำรุงรักษาและพัฒนา ในขณะที่ประเทศจีนมีการพัฒนาและบำรุงรักษาที่ดีกว่าไทยแต่คุณภาพการขนส่งบางประเภทแย่กว่าประเทศไทย เช่นระบบการขนส่งทางถนนและทางเรือ เป็นต้น
สุดท้าย การเพิ่มประสิทธิภาพและยกระดับคุณภาพโครงสร้างพื้นฐาน และระบบโลจิสติกส์ เพื่อสนับสนุนการเพิ่มมูลค่าของภาคการผลิตและบริการ และลดภาระการลงทุนของภาครัฐ เราต้องเดินหน้าดังนี้ พัฒนาให้เกิดการปรับเปลี่ยนรูปแบบการขนส่ง (Modal – Shift) ไปสู่การขนส่งในรูปแบบอื่นๆ ที่มีต้นทุนการขนส่งต่อหน่วยต่ำและมีการใช้พลังงานที่มีประสิทธิภาพสูงกว่าการขนส่งทางถนนตลอดจนพัฒนาให้เกิดการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ (Multi-modal Transport) ที่เชื่อมโยงการขนส่งทางถนนทางราง ทางน้ำ และทางอากาศในลักษณะบูรณาการ ปรับปรุงประสิทธิภาพการบริหารจัดการและพัฒนาบุคลากรโลจิสติกส์ โดยพัฒนาระบบเครือข่ายและการบริหารเครือข่ายธุรกิจของภาคบริการขนส่ง และโลจิสติกส์ตลอดห่วงโซ่อุปทาน และปรับปรุงกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องพัฒนาระบบขนส่งมวลชนสาธารณะทางราง โดยปรับปรุงโครงข่ายทางรถไฟที่มีอยู่ในปัจจุบันให้มีความทันสมัยและมีประสิทธิภาพ ขยายโครงข่ายระบบรางให้มีความครอบคลุมพื้นที่บริการเพิ่มขึ้นทั้งการก่อสร้างโครงข่ายระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล และการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูงเพื่อกระจายความเจริญไปสู่เมืองต่างๆ ในภูมิภาค พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ และการสื่อสารที่ทันสมัย โดยพัฒนาโครงข่ายโทรคมนาคมเพื่อให้บริการสื่อสารข้อมูลความเร็วสูง หรือบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง (Broadband Internet) ให้ครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศ บนพื้นฐานของการแข่งขันอย่างเสรีและเป็นธรรม เพื่อสร้างโอกาสในการเข้าถึงบริการที่เท่าเทียมกัน และเอื้อต่อการพัฒนาฐานความรู้ของประชาชน รวมทั้งสนับสนุนการวิจัยและพัฒนานวัตกรรม เพื่อสนับสนุนการพัฒนาโลจิสติกส์ของประเทศ
ถ้าเราลงทุนเฉลี่ยปีละ 2-3 แสนล้านบาท อย่างน้อยจีดีพีเราจะเพิ่มประมาณ 0.5%ก็จะทำให้จีดีพีเราโตเฉลี่ยประมาณ 5.5% แต่การลงทุนนี้ จะช่วยให้เศรษฐกิจของประเทศเพื่อนบ้านเราขยายตัวตามไปด้วย เพราะเขาก็จะลงทุนให้สอดคล้องกัน เมื่อเศรษฐกิจประเทศเพื่อนบ้านดีขึ้น เราก็ดีขึ้น ฉะนั้น การลงทุนครั้งนี้ ก็จะถือเป็นการปรับเปลี่ยนทิศทางเศรษฐกิจของประเทศเพื่อนบ้านด้วยเช่นกัน แต่หากเราไม่ลงทุน ก็เป็นปัญหาต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศเพื่อนบ้านด้วยเหมือนกัน สิ่งรัฐบาลต้องระมัดระวัง คือ ต้องดูแลไม่ให้หนี้สาธารณะเกินกรอบความยั่งยืนทางการคลัง และ ไม่ทำให้การขาดดุลบัญชีเดินสะพัดเกิน 3% ของจีดีพี ครับ
ที่มา : ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ (กรุงเทพธุรกิจ)

ติดตามเราบน Facebook