tag

ระบบการเงินที่จะเปลี่ยนแปลงเมื่อเปิด AEC ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน

ระบบการเงินที่จะเปลี่ยนแปลงเมื่อเปิด AEC ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน 
การรวมตัวของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน 10 ประเทศ 600 กว่าล้านคน หรือ ASEAN Economic Community: AEC ที่จะเริ่มขึ้นอย่างเป็นทางการในปี 2558 นี้ ซึ่งมุ่งเน้นในอาเซียนเป็นตลาดและศูนย์กลางของฐานการผลิตโลก จึงกลายเป็นอีกเวทีหนึ่งที่นักลงทุนทั่วโลกจับตา
โดยการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน ครั้งล่าสุด ที่กรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา ระหว่างวันที่ 26-30 มี.ค.255 ที่ผ่านมา เป็นการรายงานสถานการณ์ล่าสุด ถึงความคืบหน้าของเออีซี


ทั้งนี้ นอกจากการเปิดเสรีการค้าบริการ เปิดเสรีแรงงาน และการลงทุน ซึ่งเป็นเป้าหมายหลักแล้ว การเปิดเสรีภาคการเงิน และเงินทุนเคลื่อนย้ายเป็นอีกเรื่องที่อ่อนไหว และนักลงทุนต่างประเทศให้ความสนใจมาก เพราะเป็นโอกาสที่จะเข้ามาทำกำไรในตลาดเงิน และตลาดทุนในภูมิภาคอาเซียนได้อย่างเสรีมากขึ้น ทำให้ระบบการเงินไทยต้องเตรียมพร้อมรับมือ
ขณะเดียวกัน เพื่อรองรับการรวมตัวเป็น “ประชาคมอาเซียน” ที่จะเชื่อมต่อตลาดและฐานการผลิตเป็นหนึ่งเดียว ระบบการเงินไทยจำเป็นต้องเร่งเตรียมการที่จะทำหน้าที่เป็นถนน เป็นสะพาน เป็นสาธารณูปโภคอำนวยความสะดวกทางการเงิน ในด้านการค้า การลงทุน และการย้ายฐานการผลิตของไทยด้วย

เปิดเสรี ด้านเชื่อมระบบชำระเงิน
นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า แนวทางในการเจรจาเพื่อเปิดเสรีทางการเงิน และปรับปรุงระบบการเงินให้ เป็นมาตรฐานเดียวกัน
ในขณะนี้มียุทธศาสตร์ 4 ด้าน คือ
1. ระบบชำระเงินที่เชื่อมต่อกัน
2.การเคลื่อนย้ายเงินทุนที่เสรีมากขึ้น
3.ระบบการให้บริการทางการเงิน ซึ่งรวมถึงระบบสถาบันการเงิน
4.การเปิดเสรีของตลาดทุน ซึ่งในส่วนของ ธปท.ดูแลใน 3 ยุทธศาสตร์แรก
ด้านที่ 1. ในด้านระบบชำระเงิน คือ การเชื่อมโยงระบบการชำระเงินของอาเซียนให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน เพื่อเป็นถนนเชื่อมโยงระบบการค้าขาย และการใช้จ่ายของ 10 ประเทศ เพื่อให้สามารถชำระค่าสินค้า และบริการข้ามประเทศทางอิเล็กทรอนิกส์ทำได้สะดวก และเสียค่าใช้จ่ายน้อยลง
รวมถึงการปรับปรุงศักยภาพของระบบเพื่อรองรับการชำระเงินระหว่างกันด้วยสกุลภูมิภาคที่จะมากขึ้นในอนาคต และการเชื่อมโยงระบบเอทีเอ็มพูล ให้เป็นเครือข่ายเดียวกัน มีเป้าหมายที่จะทำให้สามารถใช้บัตรใบเดียว สามารถกดเอทีเอ็มได้ทุกที่ใน 10 ประเทศอาเซียน
โดยขณะนี้กำลังพัฒนาใน 5 ด้าน ได้แก่ ระบบการชำระเงินรองรับการค้า การส่งเงินทุนข้ามประเทศ การชำระค่าบริการรายย่อย การชำระเงินค่าหุ้น และตราสารหนี้ และการพัฒนาระบบการชำระเงินของทุกประเทศให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน
“ทั้งนี้ การพัฒนาศักยภาพของระบบการเงินให้เชื่อมโยงกัน ในส่วนอาเซียน 5 คือ ไทย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ และอินโดนีเซียไม่ยาก แต่กลุ่ม CLMV กัมพูชา ลาว พม่า และเวียดนาม ยังต้องการความช่วยเหลือ ซึ่งไทยในฐานะที่เป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ2 ของอาเซียนและมีวัฒนธรรมที่ใกล้เคียงกับกลุ่มนี้ ธปท.จึงมีบทบาทเป็นตัวกลางในการพัฒนาศักยภาพ (Capacity building) ของประเทศเหล่านี้ด้วย โดยเป็นประธานร่วมของคณะทำงาน Payments and Settelment System (PSS)”

เปิดก๊อกไหลออกรับมือย้ายเงินเสรี
สำหรับด้านที่ 2 คือ การเปิดเสรีเงินทุนมากขึ้น ซึ่งในส่วนนี้การเจรจายังเป็นการยอมให้เปิดเสรี ตามความพร้อมของแต่ละประเทศเป็นหลัก โดยมีเป้าหมายให้เงินทุนเคลื่อนย้ายได้อย่างเสรียิ่งขึ้น โดยลดหรือยกเลิกกฎระเบียบมาตรการเป็นอุปสรรคของการเคลื่อนย้ายเงินทุน แต่ก็จะมีการสร้างเกราะป้องกันความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นตามมาด้วย
ในส่วนของไทย จะดำเนินการตามแนวทางของแผนแม่บทเงินทุนเคลื่อนย้ายระหว่างประเทศ โดย ธปท.ต้องการที่จะวางแนวทางให้เงินทุนเคลื่อนย้ายเข้าและออกมีความสมดุลกันมากขึ้น โดยผ่อนคลายในเรื่องการนำเงินออกนอกประเทศที่เสรีมากขึ้น เพื่อให้สอดคล้องกับเกณฑ์การนำเข้าเงินทุนจากต่างประเทศที่เสรี
โดยจะผ่อนคลายการไปลงทุนในต่างประเทศมากขึ้น ทั้งการลงทุนของบริษัทขนาดใหญ่เพื่อย้ายฐานการผลิต และส่วนบุคคล โดยจะมีการขยายประเภทนักลงทุน ขยายวงเงินลงทุนในต่างประเทศ ลดขั้นตอนและกฎระเบียบของการเคลื่อนย้ายเงินทุน แต่จะดูแลการบริหารความเสี่ยงในด้านอัตราแลกเปลี่ยนให้ยืดหยุ่นและมีทางเลือกมากขึ้น
“สมาชิกอาเซียนมีกำหนดส่งแผนการเปิดเสรีระยะสั้น และระยะปานกลาง ภายในเดือน ก.ย.ที่จะถึงนี้ ซึ่งในระหว่างนี้ มีมติว่าประเทศใหญ่ ควรสนับสนุนประเทศที่เป็นสมาชิกใหม่ในเรื่องการทำแผนการเปิดเสรีเงินทุน”
ทั้งนี้ ในช่วงแรก ผู้ว่าการ ธปท.ประเมินว่า จะยังเป็นการเคลื่อนย้ายเงินทุนในรูปเงินดอลลาร์สหรัฐฯ จึงไม่กระทบการปล่อยบาทออกสู่ตลาดต่างประเทศมากเกินไป และการดูแลค่าเงินบาท
อย่างไรก็ตาม ในภูมิภาคนี้กำลังมีความพยายามที่จะใช้การแลกเปลี่ยนเงินตราโดยตรงด้วยสกุลท้องถิ่น โดยไม่ต้องใช้เงินดอลลาร์สหรัฐฯเป็นสกุลในการแลกเปลี่ยนมากขึ้น เพื่อลดความเสี่ยงจากความผันผวนของค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งส่วนนี้ ธปท.มีกลไกที่จะรับมือกับสถานการณ์ฉุกเฉินหรือการเก็งกำไรค่าเงิน โดยเพิ่มความเข้มงวดมากขึ้นตามสถานการณ์ไว้แล้ว
“ส่วนเป้าหมายการรวมสกุลเงินอาเซียนเป็นสกุลเดียวนั้น เราไม่มีเป้าหมายสุดท้ายของการร่วมกลุ่มเหมือนสหภาพยุโรป ที่จะรวมสกุลเงินเข้าด้วยกันเป็นเงินสกุลเดียว และคิดว่าน่าจะไม่มีในอนาคต”
เพราะเศรษฐกิจของ 10 ประเทศในอาเซียน ยังมีแตกต่างมากเกินไป เช่น ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ของอินโดนีเซียมีขนาดใหญ่เป็น 100 เท่าของจีดีพีของประเทศลาว นอกจากนั้น เรามีบทเรียนของการรวมเป็นสกุลเงินยูโร เป็นเงินสกุลเดียวของประเทศในสหภาพยุโรป โดยมีนโยบายการคลังที่แตกต่างกัน ซึ่งในที่สุดก่อปัญหาทางเศรษฐกิจอย่างรุนแรงในปัจจุบัน
โดยโอกาสที่เป็นไปได้ ในอนาคตอาจจะเป็นเพียงการอิงค่าเงินกันเองระหว่างภูมิภาค โดยอาจจะมีสกุลใดสกุลหนึ่งในภูมิภาคนี้ กลายเป็นสกุลหลัก และมีสกุลอื่นมาอิงในลักษณะผูกโยงไปด้วยกัน ให้ไปในทิศทางเดียวกัน เช่น ค่าเงินสกุลหยวนของจีนเป็นเรือใหญ่ เรือเล็กอย่างค่าเงินบาทของไทย มาเลเซีย อินโดนีเซีย และประเทศในอาเซียนอื่นๆ ผูกเรือโยงกับจีนด้วยเชือก อิงค่าเงินกันไป แต่เรือแต่ละลำก็สามารถขึ้นลงได้อิสระตามระดับน้ำ

เตรียมแบงก์ไทยรุกรับในตลาดอาเซียน
“เมื่อมีถนนคือ ระบบการชำระเงินที่เชื่อมกันแล้ว มีเงินเคลื่อนย้ายได้ง่ายขึ้นแล้ว ก็มาถึงการให้บริการทางการเงิน ซึ่งธนาคารพาณิชย์จะเหมือนเป็นไกด์ให้กับนักลงทุนไทยที่จะไปรุกตลาดอาเซียน ขณะเดียวกัน ก็ต้องรับมือการเข้ามาเปิดสำนักงาน หรือธนาคารพาณิชย์ของประเทศในภูมิภาคที่จะเข้ามาทำธุรกิจในประเทศไทยด้วย”
ทั้งนี้ เป้าหมายของการเปิดเสรีภาคการธนาคารนั้น เพื่อให้ตลาดการให้บริหารทางการเงินมีมากขึ้น และการเปิดเสรีจะช่วยให้ประชาชนได้รับผลิตภัณฑ์ทางการเงิน ที่ตอบโจทย์การให้บริการทางการเงินข้ามพรมแดนมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม ภาคธนาคารเป็นภาคที่มีความอ่อนไหว ทำให้เป็นการเปิดเสรีแบบ ASEAN-X คือ ตามความพร้อมและสอดคล้องของแผนพัฒนาระบบสถาบันการเงินของแต่ละประเทศ เพราะระบบสถาบันการเงินมีความอ่อนไหว และเกี่ยวเนื่องกับภาคธุรกิจเอกชน ซึ่งการเปิดให้ต่างชาติเข้ามานั้น ในปี 2557 ประเทศไทยมีแผนที่จะเปิดใบอนุญาตธนาคารพาณิชย์ใหม่เต็มรูปแบบได้
โดยในขณะนี้ธนาคารกลางอาเซียน กำลังทำกรอบการเปิดเสรีภาคธนาคารภายในอาเซียน โดยมีเป้าหมายที่จะสร้างมาตรฐานกลางของธนาคาร ที่เป็นธนาคารระดับอาเซียน ที่สามารถทำธุรกรรมการเงินได้ในทุกประเทศอาเซียน โดยมีจะการทำกรอบ “มาตรฐานธนาคารอาเซียน” หรือ Qualified ASEAN Bank : QAB ที่หากธนาคารใดได้มาตรฐานนี้ จะสามารถทำธุรกิจธนาคารในอาเซียนได้ทุกประเทศ โดยสิ้นปี 2555 นี้จะสรุปคุณสมบัติของ QAB และเริ่มมีการพิจารณาอนุญาต QAB ในปี 2557 และเริ่มการตั้งธนาคารพาณิชย์จริงในปี 2563
ด้าน นายเกริก วณิกกุล รองผู้ว่าการ ธปท. สายเสถียรภาพสถาบันการเงิน กล่าวเพิ่มเติมว่า ระบบสถาบันการเงินของไทยในขณะนี้มีความเข้มแข็ง และรับมือกับการแข่งขันจากธนาคารต่างประเทศที่เข้ามาได้แน่นอน เพราะเรามีจุดแข็งที่เรารู้จักลูกค้า และลูกค้ารู้จักเรา และในระบบการเงินการเปลี่ยนเงินฝากของประชาชนไปไว้ที่ธนาคารอื่น ไม่ได้เกิดขึ้นเพราะผลตอบแทนสูงเพียงอย่างเดียว แต่ต้องมีความไว้ใจและเชื่อใจด้วย นอกจากนั้น การให้ผลตอบแทนสูงๆ ธนาคารต่างประเทศเองก็ต้องพิจารณาด้วยว่า คุ้มค่าหรือไม่
“ในเบื้องต้น ธนาคารที่จะได้เปรียบในการเปิดเออีซี อาจจะไม่ใช่ธนาคารในอาเซียนเอง แต่เป็นธนาคารต่างประเทศ เช่น ซิตี้แบงก์ เอสเอชบีซี ที่มีสาขาอยู่ทุกประเทศในอาเซียน ทำให้เขาเชื่อมโยงระบบการให้บริการทางการเงินได้ง่ายกว่าแบงก์ในอาเซียนที่อยู่ระหว่างเตรียมการในการเชื่อมโยงระบบเข้าด้วยกัน”
ในขณะเดียวกัน การรุกของธนาคารไทยไปต่างประเทศ ธปท.มองว่า ในช่วงต้นก็จะเป็นไปในทิศทางของการตอบสนองความต้องการของลูกค้าของธนาคารเก่าของธนาคารที่ไปลงทุนในต่างประเทศมากกว่าการเข้าไปแย่งลูกค้าท้องถิ่น
อย่างไรก็ตาม ธปท.ได้มีการหารือกับธนาคารพาณิชย์ไทย ถึงข้อจำกัดต่างๆ ในการทำธุรกิจในประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อนำมาเป็นข้อมูลในการเจรจาลดอุปสรรคต่างๆ เพื่อให้ธนาคารไทยมีโอกาสเข้าไปทำธุรกิจในอาเซียนได้สะดวกมากขึ้น เช่น อุปสรรคในเรื่องขอบเขตการทำธุรกิจ หรือการจำกัดสถานที่ตั้งของสาขา เป็นต้น
“สิ่งที่ต้องติดตามคือ นวัตกรรมทางการเงินในรูปแบบใหม่จากธนาคารต่างประเทศ ที่มีความซับซ้อนมากขึ้น ซึ่งส่วนหนึ่งประชาชนอาจจะได้รับประโยชน์จากการแข่งขันที่มากขึ้น แต่บริการทางการเงินใหม่ๆนี้จะมีความเสี่ยงซ่อนอยู่ ทำให้ลูกค้าจึงต้องศึกษารูปแบบของบริการทางการเงินใหม่ๆเหล่านั้นให้ชัดเจน โดยเฉพาะศึกษาความเสี่ยงที่มีก่อนที่จะฝากเงิน หรือลงทุน”

ธนาคารพาณิชย์ได้ตื่นตัวรับมือเออีซี
สำหรับการสำรวจการเตรียมความพร้อม ธนาคารพาณิชย์ได้ตื่นตัวรับมือกับประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ด้วยรูปแบบการสร้างเครือข่ายให้บริการลูกค้า มีความแตกต่างกัน ประมาณ 4 แบบ
แบบแรก ใช้รูปแบบการเปิดเครือข่ายสาขา และรูปแบบธนาคารท้องถิ่น โดยรูปแบบสาขา เช่น ธนาคารกรุงเทพ และธนาคารกรุงไทย โดยล่าสุด ในส่วนของธนาคารกรุงเทพ ล่าสุดได้รับอนุมัติจากธนาคารกลางอินโดนีเซีย เปิดสาขาย่อยสุราบายา ณ เมืองสุราบายา เมืองใหญ่อันดับ 2 ของอินโดนีเซีย เป็นสาขาที่ 2 ต่อจากสาขาจาการ์ตา โดยธนาคารกรุงเทพ มีเครือข่ายต่างประเทศมากถึง 26 แห่ง ใน 13 เขตเศรษฐกิจสำคัญทั่วโลก โดยในอาเซียน มีเครือข่ายสาขา 13 แห่ง ใน มาเลเซีย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม ลาว และสำนักงานตัวแทนในย่างกุ้ง ประเทศพม่าขณะที่ธนาคารกรุงไทยมีสาขา 4 แห่ง ในสิงคโปร์ กัมพูชา และลาว และธนาคารกรุงศรีฯมีสาขาที่ลาว 2 แห่ง
แบบที่ 2 ใช้รูปแบบจับมือเป็นพันธมิตร กับธนาคารในท้องถิ่น เช่น ธนาคารกสิกรไทย ซึ่งล่าสุดจับมืออกริแบงก์ ธนาคารเวียดนามชั้นนำที่มีสาขามากที่สุด เข้าเป็นพันธมิตรเพิ่มเติม จากปี 2554 ธนาคารได้ร่วมเป็นพันธมิตรกับเวียตตินแบงก์ เป็นแห่งแรกในเวียดนาม และยังเป็นพันธมิตรกับธนาคารท้องถิ่นในอาเซียน 7 แห่ง ใน 4 ประเทศ ได้แก่ อินโดนีเซีย สิงคโปร์ ลาว เวียดนาม พร้อมตั้งเป้าหมายจะมีพันธมิตรธนาคารท้องถิ่นครบทั้ง 9 ประเทศ ภายในปี 2555 นี้
แบบที่ 3 คือ การเข้าไปซื้อกิจการ ซึ่งในส่วนของธนาคารไทยไปซื้อกิจการในต่างประเทศยังไม่มี ยกตัวอย่างได้จาก ธนาคารซีไอเอ็มบี มาเลเซีย ได้ใช้รูปแบบการเทกโอเวอร์ธนาคารท้องถิ่น เช่น ธนาคารในอินโดนีเซีย และในประเทศไทย ได้เข้ามาเทกโอเวอร์ธนาคารไทยธนาคาร เปลี่ยนชื่อใหม่ เป็นธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย เพื่อใช้เป็นฐานเชื่อมโยงธุรกิจในอาเซียน
แบบที่ 4 คือ การรวมทุกแบบเข้าด้วยกัน เช่น ธนาคารไทยพาณิชย์ ที่มีการตั้งเครือข่ายสาขาในสิงคโปร์ ลาว และกัมพูชา รวม 6 สาขา และมีการจับมือเป็นพันธมิตรกับธนาคารท้องถิ่นในเวียดนาม
อย่างไรก็ตาม ในส่วนของการแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศนั้น ในขณะนี้ได้มีการขอความร่วมมือในธนาคารพาณิชย์ โค้ดราคาซื้อขายเงินโดยตรงระหว่างสกุลท้องถิ่นให้ชัดเจนขึ้น เช่น สกุลเงินบาท กับสกุลเงินริงกิต ของมาเลเซีย หรือล่าสุด สกุลเงินบาทกับสกุลเงินจ๊าดของพม่า
โดย ธปท.ต้องการให้การแลกเปลี่ยนสกุลเงินโดยตรงระหว่างกันในอาเซียน มีต้นทุนที่ถูกลงกว่าในปัจจุบัน เพราะในขณะนี้การแลกเงินโดยตรงมีค่าใช้จ่ายมากกว่าการแลกเป็นเงินดอลลาร์สหรัฐฯ
ความต้องการ เงินบาท” ค้าชายแดนเพิ่ม
นายนพพร ประโมจนีย์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ ธปท.สายออกบัตรธนาคาร ให้ความเห็นว่า เมื่อเข้าสู่เออีซีแล้ว สัดส่วนของการใช้เงินบาทแลกเปลี่ยนในการค้าชายแดนพม่า ลาว และกัมพูชา จะมากขึ้น เพราะในเขตชายแดนเชื่อมต่อกับประเทศเหล่านี้รับเงินบาทในการแลกเปลี่ยนซื้อขายสินค้า ควบคู่กับเงินดอลลาร์สหรัฐฯ อยู่แล้ว แต่เมื่อเป็นเออีซี การใช้เงินบาทในฐานะตัวกลางในการซื้อขายการค้าชายแดนน่าจะมีความต้องการมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม เงินบาทคงไม่ได้เป็นสกุลหลักในการค้าขายในภูมิภาค แต่เชื่อว่าบทบาทของเงินบาทน่าจะมีเพิ่มมากขึ้น โดยในช่วงต่อไปอาจจะมีการผ่อนคลายข้อจำกัดในการนำธนบัตร หรือเงินสด ข้ามเขตแดนระหว่างประเทศเพื่อนบ้านมากขึ้น จากในขณะนี้ที่กำหนดให้นำเงินข้ามแดนได้ไม่เกิน 500,000 บาท
“ในส่วนของการพิมพ์ธนบัตรของ ธปท.นั้น ตามปกติจะเพิ่มขึ้นตามการขยายตัวของระบบเศรษฐกิจของไทย แต่เมื่อเข้าสู่เออีซี การรวมตัวจะทำให้ตลาดและฐานการผลิตใหญ่ขึ้นไปด้วย ดังนั้น จำนวนการพิมพ์ธนบัตรเพิ่มขึ้นในแต่ละปีอาจจะต้องพิจารณาภาพรวมของเออีซีเพิ่มเติมด้วย โดยขั้นตอนนี้อยู่ระหว่างการศึกษา”
แต่ทั้งนี้ การเข้าสู่เออีซีในปี 2558 จะเป็นเพียงการเริ่มต้นเปิดเสรีของระบบการเงินไทยเท่านั้น โอกาสที่การเปิดเสรีทางการเงินทั้งระบบสถาบันการเงิน การเคลื่อนย้ายเงินทุนเต็มรูปแบบคงยังไม่เกิดขึ้น จนกว่าประเทศไทยจะมีความพร้อมมากกว่านี้ เพราะตามกำหนดเออีซี ยอมให้การเปิดเสรีทางการเงินเต็มรูปแบบเลื่อนไปได้จนถึงปี 2563.
ที่มา: ทีมเศรษฐกิจ ไทยรัฐ

ติดตามเราบน Facebook