การเปลี่ยนแปลง ที่สำคัญ
ภายหลังการรวมตัว เป็นอาเซียน
ภายหลังการรวมตัว เป็นอาเซียน
รศ.ดร.สมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์ ได้กล่าวในงานสัมมนา “AEC: จุดเปลี่ยนประเทศไทย” ว่า หลังสงครามเย็นสิ้นสุด 1989 เกิดจดเปลี่ยนไปทั่วโลก เพราะปัญหาเรื่องความมั่นคงจบไปแล้ว และการแข่งขันการค้าแบบจริงจังได้เริ่มขึ้น รัฐบาลไทยโดยคุณอานันท์ ปันยารชุน นายกรัฐมนตรีสมัยนั้น ได้เสนอกรอบข้อตกลง AFTA (ASEAN Free Trade Area) ขึ้นมา สิ่งเหล่านี้จะไม่เกิดหากปัญหาสงครามเย็นไม่ยุติลงไป
วิสัยทัศน์ประเทศไทยในปี 2000 เราก็ได้เห็นประเทศเวียดนามเข้ามาเป็นสมาชิกอาเซียน (Association of Southeast Asian Nations : ASEAN) และอาเซียนมองว่าต่อไปข้างหน้าจะกลายเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (Asean Economics Community-AEC) แน่นอนจะเป็นเขตการค้าเสรีในภูมิภาครวมทั้ง จีน เกาหลี ญี่ปุ่น ซึ่งนั่นเป็นเค้าลางของการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่จะเกิดขึ้นในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพราะสมัยนั้นการซื้อขายหลักทรัพย์ในประเทศไทยยังเล็กอยู่ และต่อไปตลาดหุ้นก็จะรวมกันกลายเป็นตลาดเดียว แต่ขณะนี้ยังไม่ถึงกับขั้นนั้น แต่ว่าสิ่งเหล่านี้เป็นสัญลักษณ์ของการเปลี่ยนแปลง
หนึ่ง ตลาดหุ้นเป็นสัญลักษณ์ของการเปลี่ยนแปลงขยายตัวทุนนิยม สอง ทุนนิยมโดยเอกชนจะขยายตัวเป็นดอกเห็ด ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ สาม เกิดการเปิดประเทศอันเป็นผลมาจากทุนนิยมขยายตัวบริษัทเอกชนขยายตัวเป็นแรงกดดันให้การส่งออกขยายตัวเพิ่มขึ้น เกิดการแข่งขันเพิ่มขึ้น และการแข่งขันเพิ่มมากขึ้นทำให้เกิดการแสวงหาความรู้ใหม่ๆ เพิ่มเติม มหาวิทยาลัยเปิดเพิ่มขึ้นเป็นดอกเห็ดการแข่งขันทำให้ผู้ประกอบการล้มลุกคลุกคลานมีทั้งเปิดใหม่ มีทั้งปิดกิจการ ร้านค้าสะดวกซื้อเข้ามาในตลาด สินค้าในไทยจะถูกแทรกด้วยสินค้าจากต่างประเทศ สินค้าประเภทอาหาร พฤติกรรมด้านการบริโภคอาหารในประเทศก็จะเปลี่ยนไป มีการรับประทานอาหารเวียดนามเพิ่มขึ้น อาหารอินเดียเพิ่มขึ้น รวมไปถึงต่อไปก็รับประทานอาหารแบบมาร์โคโปโล คือ อาหารผสมผสานสไตล์ท้องถิ่นที่มาร์โคโปโลเคยเดินทางไปผสมกับอาหารอิตาลี ขณะเดียวกันอาหารไทยก็ไปทั่วโลกได้เช่นเดียวกัน โลกเปลี่ยนอย่างไร การเปลี่ยนแปลงนั้นกระทบกับเราอย่างไร และจะรอดได้อย่างไร นี่คือกลยุทธ์ที่เราต้องศึกษา
จุดเปลี่ยนประเทศไทยรอบ 2 เกิดจาก AEC เพราะ AEC เป็นขบวนการรวมกลุ่มซึ่งหมายถึง 4 องค์ประกอบด้วยกัน คือ ขบวนการรวมกลุ่มเพื่อเปิดเสรีสินค้า เปิดเสรีบริการ เปิดเสรีเงินทุน และเปิดเสรีแรงงาน อย่างอื่นเป็นผลติดตามมา
ยุโรปได้บรรลุความเป็นตลาดร่วมในปี 1992 เปิดเสรีทั้งสินค้า บริการ เงินทุน เพราะพัฒนามานานแล้ว เราจะเห็นว่าการรวมกันนั้นต้องเริ่มที่สินค้าก่อน คือ เขตการค้าเสรีโดยกำแพงภาษีเป็น 0% และโควตาเป็น 0% ต่อจากนั้นในระดับสอง สินค้ามาจากต่างประเทศต้องเสียภาษีในอัตราเดียวกัน (สหภาพศุลกากร) และลำดับสาม คือ เงินทุนและแรงงาน
เราสังเกตได้ว่าเมื่อเริ่มต้นที่การเปิดเสรีการค้า ต่อมาก็คือการลงทุน คือเข้ามาตั้งโรงงานหรือตั้งบริษัททำธุรกิจ มีการเทกโอเวอร์กิจการกันอย่างแพร่หลาย เพื่อให้ธุรกิจหรือกิจการใหญ่ขึ้นแข็งแรงมากขึ้น เพราะต่อไปไม่ใช่ตลาดมีเพียง 60 ล้านคน แต่ตลาดใหญ่ขึ้นเป็นกว่า 600 ล้านคน และขยายไปถึงจีน เกาหลี ญี่ปุ่น ซึ่งตลาดยิ่งใหญ่มากขึ้นไปอีก เราจะเห็นดีล (Deal) ใหญ่ๆ เพิ่มมากขึ้นแน่นอน
มีข้อสังเกตว่าแม้ทุกวันนี้มีการร่วมเป็นประชาคมยุโรปตลาดเดียวก็ยังไม่จบ เพราะขบวนการด้านสินค้า บริการ เงินทุน และแรงงาน อาทิ บริการทางการเงินยังไม่จบ จบแต่ตัวสินค้า
ปัจจุบัน 6 ชาติสมาชิกอาเซียนเดิมเปิดเสรีการค้าต่อกันแล้ว (ยังมีข้อยกเว้นบางชนิดของสินค้า) ประมาณ 99.8% สำหรับลาว เวียดนาม กัมพูชาและพม่า กำแพงภาษีเหลือ 5% เท่านั้น และจะเหลือ 0% ในอีก 2 ปีข้างหน้า ด้านเปิดเสรีบริการและลงทุนนั้นคีย์สำคัญที่ต้องดำเนินการคือ กฎหมาย ซึ่งหมายถึงต้องแก้กฎหมายให้ต่างชาติเข้ามาถือครองหุ้นได้มากกว่าที่ดำเนินการอยู่ในทุกวันนี้
เป้าหมายเมื่อรวมเป็นประชาคมเศรษฐกิจเดียวกันแล้ว สมาชิกอาเซียนสามารถถือครองหุ้นได้ 70% ได้แก่ ธุรกิจบริการ ไอที ท่องเที่ยว การบิน เฮลธ์แคร์ (4 รายการนี้ดำเนินได้แล้วในปัจจุบัน) และโลจิสติกส์ และ 7 การลงทุนซึ่งได้แก่ ด้าน เกษตร ยาง ออโตโมทีฟ เฟอร์นิเจอร์ การเงิน ประกันชีวิต ประกันวินาศภัย ซึ่งเชื่อว่าต่อไป จะถือหุ้นได้ถึง 100% ขณะที่ประเทศนอกกลุ่มถือหุ้นได้ไม่เกิน 49% ซึ่งหมายรวมถึงทั้งธุรกิจการเงิน ธุรกิจประกันชีวิต ธุรกิจประกันภัย ด้วยในท้ายที่สุดไม่ใช่เปิดลงทุนเฉพาะด้านอย่างที่เราได้ตกลงกันแล้วในขณะนี้ และจะไม่หยุดแค่เปิดเสรีลงทุนเพียงแค่นี้เท่านั้น จะต้องเปิดเพิ่มเสรีการลงทุนเพิ่มอีก
AEC จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงลึก เป็นต้นว่าระบบภาษีที่ใช้กันอยู่ ต่อไปต้องใช้อัตราใกล้เคียงกันหรือเหมือนกันทั้งหมด และสำคัญที่สุดเรื่องมาตรฐานก็ต้องใช้ “มาตรฐาน” แบบเดียวกันทั้งหมดนี่คือเรื่องราวที่กำลังเปลี่ยนแปลงไป หรือสิ่งเหล่านี้กำลังเกิดขึ้น
ที่มา : รศ.ดร.สมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์ ในงานสัมมนา “AEC: จุดเปลี่ยนประเทศไทย”