tag

AEC เวียดนาม


AEC เวียดนาม

เวียดนาม หรือชื่ออย่างเป็นทางการว่า สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม เป็นประเทศสมาชิกอาเซียนที่มีการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็วพร้อมๆไปกับการพัฒนาอุตสาหกรรมที่มีความรุดหน้าในหลายประเภทสินค้าแม้ว่าในช่วงปีที่ผ่านมาจะเริ่มมีการชะลอตัวทางเศรษฐกิจแต่การขยายตัวในช่วงไตรมาสแรกและไตรมาสสองของปีนี้ก็ดีขึ้นเป็นลำดับ (4.0% และ 4.5%) สวัสดิ์ โสภะ เลขาธิการสมาคมมิตรภาพไทย-เวียดนาม และกรรมการรองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ สายการผลิตสุราและเทคนิค บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) ให้สัมภาษณ์พิเศษกับ ฐานเศรษฐกิจถึงลู่ทางการค้าและการลงทุนในเวียดนามที่ยังเปิดกว้าง แม้จะมีอุปสรรคและความท้าทายบางประการรออยู่
สินค้าคุณภาพของไทยเป็นที่นิยม
        เมื่อพูดถึงการนับถอยหลังสู่การเป็นประชาคมเศรษฐกิจเดียวกันในปี2558 ทางเวียดนามเขาก็มีความเตรียมพร้อม เท่าที่ทราบมา เขามีการเตรียมการโดยเฉพาะในเรื่องของการลดภาษีลงมาเหลือ 0% ในปี 2558 เหมือนกับประเทศอื่นๆในอาเซียน นอกจากนี้ยังมีการสัมมนา การให้ข้อมูลแก่ภาคธุรกิจและประชาชนเหมือนๆกับที่เราทำอยู่ เป็นการเตรียมความพร้อมในลักษณะ รู้เขา รู้เราซึ่งจะช่วยในเรื่องการรับมือและแข่งขัน เป็นการรู้เขา รู้เรา ซึ่งรวมถึงในแง่ภาษา วัฒนธรรม รวมทั้งการเรียนรู้รสนิยมหรือสิ่งที่ผู้บริโภคของเขาชื่นชอบในสินค้าประเภทต่างๆ ผมว่าไทยเองก็ต้องเตรียมรับมือแบบรู้เขา รู้เราเช่นกัน หากเราต้องการนำสินค้าไปขายเวียดนาม โดยเฉพาะพวกผู้ประกอบการขนาดเล็กและขนาดกลาง (SMEs) ที่ใช้ต้นทุนการผลิตน้อย โอกาสก็ยังมีอยู่มากโดยการนำสินค้าผ่านชายแดนทางภาคอีสาน สามารถขนส่งโดยใช้ถนนเส้น R9 ซึ่งก่อสร้างเสร็จเรียบร้อยแล้วเชื่อมจากไทยที่มุกดาหาร ผ่านไปลาว ไปเวียดนามโดยใช้เวลาไม่มากนัก เป็นเส้นทางที่เราใช้ค้าขายกันได้ ผู้ค้าของเราเองต้องตื่นตัว ผู้ประกอบการในต่างจังหวัดก็ต้องตื่นตัวด้วย จะทำให้การค้าขายเพิ่มพูนขึ้นได้ในอนาคตข้างหน้า ในเรื่องของการค้าขายนั้น ไทยเราค่อนข้างได้เปรียบเพราะแบรนด์เนมสินค้าไทยเป็นที่ชื่นชอบของคนเวียดนามอยู่แล้ว เวลาเขามาเมืองไทยก็จะมาซื้อสินค้าจากไทยกลับไปกันเยอะ เอาใส่กระเป๋าใบใหญ่ๆกันไป เพราะสินค้าบ้านเรามีคุณภาพ ดังนั้นโอกาสสินค้าไทยที่จะเข้าไปสู่ตลาดเวียดนามหลังภาษีเหลือ 0% ในปี 2558 นั้นผมว่าจะมีมากขึ้น ส่วนการลงทุน ไทยเราเข้าไปลงทุนในเวียดนามนานหลายปีแล้วและมีความต่อเนื่อง อีกทั้งโอกาสและศักยภาพของเวียดนามที่จะเอื้อต่อนักลงทุนต่างชาตินั้นก็ยังมีอยู่อีกมากเพราะเป็นประเทศที่จัดอยู่ในกลุ่มดาวรุ่งกำลังพัฒนา หรือ new emerging economies มีการเติบโตทางเศรษฐกิจค่อนข้างดีเมื่อเทียบกับประเทศในยุโรปและอเมริกาที่เศรษฐกิจกำลังแย่
สำหรับอุตสาหกรรมที่น่าเข้าไปลงทุนในเวียดนาม
      มีความหลากหลายซึ่งบริษัทไทยก็ได้เข้าไปลงทุนอยู่แล้วหลายราย เช่น อุตสาหกรรมผลิตบรรจุภัณฑ์ กล่องกระดาษ พลาสติก ขวดแก้ว กระป๋อง พวกภาชนะ นอกจากนี้ ที่ผมมองว่าน่าจะไปได้ดีคืออุตสาหกรรมด้านไอที-คอมพิวเตอร์ เพราะมันจะเข้ามารองรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศเราจะเห็นได้ว่าประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ทั้งหลายมีความจำเป็นจะต้องใช้เทคโนโลยีทางด้านนี้เยอะแทนระบบ manual ที่จะหมดไป แล้วมีระบบ digital เข้ามาแทน
การแข่งขันและความท้าทาย
   ในแง่อุตสาหกรรมอาหารเนื่องจากเวียดนามเองก็เป็นแหล่งผลิตอาหารเหมือนกับไทยเราซึ่งเขาเองก็อุดมสมบูรณ์ โอกาสของผู้ส่งออกของไทยจึงเป็นพวกอาหารกระป๋อง อาหารแปรรูป ส่วนข้าวนั้น ข้าวเวียดนามระดับคุณภาพยังต่างจากของไทยซึ่งไทยเรามีข้าวหอมมะลิที่ได้รับการยอมรับจากสถาบันนานาชาติว่าเป็นข้าวที่มีคุณภาพดีที่สุดในโลกขณะที่เวียดนามมีคุณภาพด้อยกว่า ข้าวไทยเราจึงมีราคาสูงกว่า เป็นคนละตลาดกัน
สินค้าที่เวียดนาม
        เขามีความแข็งแกร่งก็คล้ายๆสินค้าโอท็อปของเราเป็นสินค้าของผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่สามารถซื้อขายแลกเปลี่ยนกันได้ง่าย แต่เขามีค่าจ้างแรงงานถูกกว่าเรา ต่างกันตรงที่ว่าเวลานี้สินค้าของไทยเราจัดเป็นสินค้าที่มีคุณภาพ ผมจึงมองว่าโอกาสสินค้าอุปโภคบริโภคของไทยเรายังมีอยู่มาก แต่แน่นอนว่า ด้วยค่าจ้างแรงงานที่ถูกกว่า สินค้าที่เขาใช้แรงงานมากเช่น สิ่งทอ ก็จะผลิตได้ถูกกว่าบ้านเรา เขาก็จะได้เปรียบเราถ้าลูกค้าไม่เน้นเรื่องคุณภาพมากนัก ถ้าหากเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่มของไทยอยากเข้าไปขายในเวียดนามก็ต้องเอาแบรนด์เนมเข้าไป
การเข้าไปลงทุนและค้าขายในตลาดเวียดนาม
     เวลานี้ถือว่ายังไม่สายเกินไปแม้ว่าการเข้าไปปักหลักได้ก่อนจะมีความได้เปรียบและมีโอกาสเติบโตได้มากกว่า อย่างไรก็ตามที่บอกว่าไม่สาย เพราะตลาดมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา โอกาสจึงมีอยู่ตลอด ขึ้นอยู่กับความสามารถของบริษัทนั้นๆ ที่จะเจาะเข้าไป ปัจจุบันไทยเองก็ได้เปรียบดุลการค้าเวียดนามอยู่แล้ว ถามว่าความท้าทายมีเรื่องอะไรบ้าง ผมมองว่าที่ท้าทายที่สุดเป็นเรื่องของการกระจายสินค้า เพราะเวียดนามเป็นประเทศที่มีพื้นที่ยาวมาก การขนส่งจึงลำบากมาก ไม่ว่าจะขนจากเหนือลงใต้หรือจากใต้ขึ้นไปทางเหนือ ถ้าจะให้สะดวกต้องมีการตั้งศูนย์กระจายสินค้าที่ตอนกลางของประเทศ ส่วนเรื่องการหาอาคารสำนักงานให้เช่าในเวียดนามไม่มีปัญหาเพราะเขามีการก่อสร้างอาคารใหม่ๆขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ติดตามเราบน Facebook