tag

AEC ประเทศลาว


AEC ประเทศลาว

การสัมมนา โอกาสและประสบการณ์การลงทุนของ SMEs ไทยใน สปป.ลาวที่จัดขึ้นโดยกระทรวงการต่างประเทศ ร่วมกับสมาคมไทย-ลาวเพื่อมิตรภาพ และสมาคมลาว-ไทยเพื่อมิตรภาพที่ผ่านมา นำนักธุรกิจผู้เชี่ยวชาญ ในธุรกิจเอสเอ็มอีใน สปป.ลาว มาเปิดเผยถึงโอกาสของการเข้าถึงตลาดใหม่ในประเทศเพื่อนบ้าน
เสถียรภาพการเมืองลาวมั่นคง
นายบดินทร์ สาระโนทยาน กรรมการบริหารเครือบริษัทเทมปลาร์ จำกัด ผู้บุกเบิกธุรกิจสัมปทานป่าไม้ในสปป.ลาวในยุคเริ่มแรกเมื่อ 19 ปีก่อน พร้อมกับเริ่มกรุยทางธุรกิจโรงแรม กล่าวว่า ต้องเข้าใจธรรมชาติหรือวัฒนธรรมของ สปป.ลาวเสียก่อนและต้องเข้าใจทิศทางการพัฒนาแผนแม่บททางเศรษฐกิจของ สปป.ลาว ว่าค่อยเป็นค่อยไปแต่ชัดเจน นักลงทุนไม่ควรกังวลต่อตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศของลาว ข้อดีที่ส่งเสริมการเข้ามาทำธุรกิจใน สปป.ลาวอย่างยิ่งคือ เสถียรภาพทางการเมืองของลาวมั่นคง และผู้เข้ามาลงทุนสามารถใช้สิทธิประโยชน์ด้านภาษีศุลกากร หรือยกเว้นภาษีเป็น 0% ในการผลิตเพื่อส่งออกไปยังยุโรปและสหรัฐฯ ได้เต็มที่ด้านคำแนะนำต่อธุรกิจการโรงแรม นายบดินทร์กล่าวว่า สิ่งที่ต้องคำนึงถึงอันดับแรกคือการเช่าที่ดิน ซึ่งค่อนข้างหาได้ลำบาก และต้องเข้าใจว่าการโรงแรมซึ่งพึ่งพาการท่องเที่ยวของลาวขึ้นอยู่กับเสถียรภาพการเมืองไทยสูง เพราะที่ลาวไม่มีสนามบินขนาดใหญ่ นักท่องเที่ยวต้องเดินทางเข้า ผ่านทางไทยหรือเวียดนาม พิษการเมืองไทยที่ผ่านมาทำให้โรงแรมในเวียงจันทน์ร้างมาแล้วช่วงก่อนหน้านี้
มองนโยบายรัฐ ก่อนจับธุรกิจใหม่
 นายณฐพล ปัญจศิลา ผู้อำนวยการ บริษัท รุ่งเรืองลาวโลจิสติกส์ ผู้บุกเบิกธุรกิจโลจิสติกส์ใน สปป.ลาวแนะนำว่า คอนเน็กชั่นในการทำธุรกิจเป็นเรื่องสำคัญมาก นับแต่แรกเริ่มจนปัจจุบัน ธุรกิจขนส่งวัสดุก่อสร้างในลาวยังทำรายได้ดี เนื่องจากลาวมีโครงการก่อสร้างจำนวนมาก อย่างไรก็ตาม อุปสรรคสำคัญด้านการคมนาคมมีสูง ต้องสำรวจเส้นทางให้ชำนาญปัจจุบันประเทศลาวกำลังพัฒนา แต่ก็คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมด้วย ช่องทางการจับธุรกิจใหม่ ๆ หากมองถึงนโยบายของรัฐ มีแนวโน้มไปได้ดี ประสบการณ์ส่วนตัวที่จับธุรกิจใหม่อีกด้านคือ การสร้างพื้นที่การกีฬาและเก็บค่าเช่าแก่ผู้ออกกำลังกาย ทั้งสนามฟุตบอลหญ้าเทียมและสระว่ายน้ำ ซึ่งสร้างบนพื้นที่ 7 ไร่ใจกลางเมือง ธุรกิจนี้เป็นไปได้ดี และสอดคล้องกับนโยบายของรัฐที่สนับสนุนการกีฬา
ตลาดใหม่ กำลังซื้อสูง
นายฉัตรพลชัย ปัญญาธรรมบดี ผู้อำนวยการบริษัท มหทุนเช่าสินเชื่อ ดำเนินกิจการธุรกิจเช่า-ซื้อจักรยานยนต์ใน สปป.ลาวมา 11 เดือน ซึ่งประสบความสำเร็จอย่างมาก กล่าวว่า ตลาดลาวไม่ใหญ่ ข้อเสียอยู่ที่ไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับการลงทุนชัดเจนขั้นต้นต้องเรียนรู้อุปนิสัยพฤติกรรมผู้บริโภคลาวให้ชัดเจนคือ ไม่ชอบเป็นหนี้ สังเกตได้จากป้ายทะเบียนรถใน สปป.ลาว ที่มีแต่ป้ายสีเหลืองเต็มไปหมด เพราะหมายถึงซื้อเงินสด ส่วนป้ายสีขาวคือซื้อเงินผ่อน ซึ่งคนลาวจะอายมากหากต้องขับรถป้ายทะเบียนสีขาว คุณภาพหนี้ในลาวดีมาก ไม่มีหนี้เสียอย่างแน่นอนนายฉัตรพลชัยมองว่า หากทำธุรกิจเช่า-ซื้อที่ สปป.ลาวจะพบขาขึ้น อีก 5 ปีรวยแน่นอน เพราะยังมีกำลังซื้อสูง แม้คนลาวจะมีรายได้ไม่มาก แต่กล้าซื้อ และต่อต้านการใช้ของลอกเลียนแบบ ใช้แต่ของแท้เท่านั้น หากต้องการเข้ามาลงทุน การบ้านที่ต้องทำ คือศึกษาข้อกฎหมายของลาวให้ดี เพราะข้อกฎหมายของลาวซึ่งต่างจากไทยที่พบในช่วงแรก คือลาวไม่มีกฎหมายเช่าซื้อ เมื่อจดทะเบียนทำธุรกิจเช่าซื้อจึงต้องเปลี่ยนชื่อเป็นเช่าสินเชื่อ อิงตามกฎหมายเช่าสินเชื่อของลาว
ขยายธุรกิจสู่อาเซียน
นายโกสินธ์ ศรีศักดิ์ ตัวแทนเจ้าของธุรกิจร้านอาหารออนซอน และร้านกาแฟ Cash มองว่า ธุรกิจอาหารใน สปป.ลาวไม่ซับซ้อนอุปสรรคมีเพียงการเสาะหาทำเลที่เหมาะสม เนื่องจากอัตราค่าเช่าในเวียงจันทน์สูง และที่จอดรถไม่เอื้ออำนวย หนทางไปสู่การประสบความสำเร็จของนักธุรกิจไทยใน สปป.ลาว คือต้องใช้ประโยชน์จากการที่คนไทยกับลาวคล้ายคลึงกันอย่างมาก ชอบบริโภคสินค้าไทย ชอบทำธุรกิจแบบผูกมิตรและช่วยเหลือพึ่งพากัน

















ติดตามเราบน Facebook