AEC Business Support Center ชี้ช่องทางผู้ประกอบการลุยตลาดอาเซียน
กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ประสบความสำเร็จจากการเปิดศูนย์พัฒนาการค้าและธุรกิจไทยในประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC Business Support Center เพื่อรองรับการขยายตัวด้านการค้าของประเทศไทย และเตรียมเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) พร้อมกิจกรรมเสวนา "รู้ทัน AEC 360?" และ AEC Business Consultation เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม
อัมพวัน พิชาลัย รองอธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กล่าวว่า กิจกรรมที่จัดขึ้น เป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรม AEC Week ซึ่งกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศจัดเป็นระยะเวลา 10 วัน ช่วงที่ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ พาคณะผู้แทนการค้า และผู้นำเข้ากลุ่มสินค้าอาหารมาเข้าชมงานแสดงสินค้า THAIFEX 2013 เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม โดยมีกิจกรรมใน AEC Week ที่มีความน่าสนใจมากมาย
“กิจกรรมในวันที่ 27 พฤษภาคม เป็นส่วนหนึ่งใน AEC Week เช่นกัน ช่วงเช้าเป็นการเปิดตัว ศูนย์พัฒนาการค้าและธุรกิจไทยในประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC Business Support Center และกิจกรรมเสวนา รู้ทัน AEC 360? ส่วนช่วงบ่ายมีกิจกรรม AEC Business Consultation ซึ่งกิจกรรมในวันนั้นได้รับความสนใจจากผู้ประกอบการอย่างมาก"
มีผู้เข้าร่วมกิจกรรมกว่า 700 ราย ประกอบด้วย ผู้ประกอบการกว่า 600 ราย และเจ้าหน้าที่ภาครัฐกว่า 100 ราย จากการประเมินผลการจัดสัมมนา ปรากฏว่า ผู้เข้าร่วมสัมมนาเห็นว่าการสัมมนานี้คุ้มค่ามาก 96% ของผู้เข้าร่วมสัมมนามีความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับ AEC มากขึ้นหลังจากการสัมมนา 96% ได้รับความรู้ตรงตามความต้องการของผู้ประกอบการค่อนข้างมากถึงมาก และ 94% เห็นว่าการจัดหลักสูตรและการดำเนินการฝึกอบรม สัมมนา ที่ผ่านมา อยู่ในเกณฑ์ที่ดีถึงดีมาก
ศูนย์พัฒนาการค้าและธุรกิจไทยในประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน จัดตั้งขึ้นในส่วนกลาง และในต่างประเทศ 9 แห่ง อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ ภูมิภาคอาเซียน 8 ประเทศ ได้แก่ สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย กรุงย่างกุ้ง ประเทศพม่า กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย กรุงมะนิลา ประเทศฟิลิปปินส์ กรุงฮานอย ประเทศเวียดนาม นครโฮจิมินห์ ประเทศเวียดนาม กรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา นครเวียงจันทน์ ประเทศลาว และประเทศสิงคโปร์
ทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางการให้บริการข้อมูลและคำปรึกษาแก่ผู้ประกอบการไทยที่ต้องการทำธุรกิจการค้า การลงทุน การจัดหาแหล่งวัตถุดิบในอาเซียน และสนับสนุนผลักดันให้ผู้ประกอบการไทยเข้าสู่ภาคการค้าระหว่างประเทศ ในตลาดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในเชิงรุกอย่างมีประสิทธิภาพ
สำหรับบริการของศูนย์พัฒนาการค้าและธุรกิจไทยในประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ประกอบด้วย 1.บริการข้อมูลการค้า การลงทุน กฎระเบียบการค้า การจัดตั้งธุรกิจ รายงานตลาดเชิงลึกในตลาดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน 2.ให้คำปรึกษาเชิงลึกด้านการค้า การลงทุน และการจัดหาแหล่งวัตถุดิบในตลาดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (โดยผ่านการนัดหมายล่วงหน้า) 3.ประสานงาน/จัดทำนัดหมายในการพบหารือหน่วยงานต่างๆ ในตลาดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน
4.จัดกิจกรรมภายใต้ชมรมนักธุรกิจไทยในประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (DITP AEC Club) เพื่อสร้างเครือข่ายพันธมิตรทางธุรกิจที่เข้มแข็ง และเป็นรูปธรรม เกิดการสื่อสารแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านการค้าการลงทุนในตลาดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนอย่างใกล้ชิด อาทิ กิจกรรมสัมพันธ์ (Club Meeting) กิจกรรม Business Mentors by Successful Businessmen in AEC กิจกรรม AEC Business Matching and Networking เป็นต้น 5.ประชาสัมพันธ์ข้อมูลข่าวสารกิจกรรมต่างๆ ที่กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศและหน่วยงานพันธมิตรจัดขึ้นให้แก่สมาชิกชมรมนักธุรกิจไทยในประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (DITP AEC Club) รับทราบอย่างต่อเนื่อง
6.ให้บริการสถานที่ เครื่องมืออุปกรณ์ ห้องประชุมและเอกสารสื่อสิ่งพิมพ์ สื่ออิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ เพื่ออำนวยความสะดวกด้านการค้าการลงทุนแก่ผู้ประกอบการไทยที่ต้องการติดต่อธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ ในตลาดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (Business Support and Facilitation) ณ ประเทศที่สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศตั้งอยู่
ในส่วนของงานสัมมนา “AEC Business Consultation” จัดโดยสถาบันองค์ความรู้ด้านการค้าระหว่างประเทศ กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ มีวิทยากรจากบริษัทที่มีประสบการณ์ด้านธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ มาให้คำปรึกษา ร่วมกับผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ แบ่งออกเป็น 6 ห้อง แยกตามตลาดต่างๆ ในอาเซียน และ 1 ห้องสำหรับเจาะลึก AEC 360? กับหน่วยงานภาครัฐ
สำหรับตลาดที่ผู้ประกอบการให้ความสนใจเรียงตามลำดับ 3 อันดับแรก ได้แก่ ตลาดพม่า ตลาดลาวและกัมพูชา ตลาดฟิลิปปินส์และตลาดอินโดนีเซีย
ส่วนคำถามที่ถามกันมากเกี่ยวกับข้อมูลการทำธุรกิจที่ผู้ประกอบการต้องการทราบ เช่น ลู่ทางการค้าการลงทุนในตลาดนั้นๆ การจัดตั้งบริษัทและค่าใช้จ่าย Transaction ต่างๆ ผลกระทบ/ผลประโยชน์จาก AEC ที่มีต่อกฎระเบียบข้อบังคับต่างๆ ด้านการค้ากฎระเบียบเกี่ยวกับสินค้าด้านอาหาร เช่น Non-tariff Barrier สินค้าอาหารฮาลาล สิ่งที่ต้องคำนึงถึง หรือระมัดระวังในการทำตลาดในภูมิภาคนั้น
สินค้าต้องห้ามนำเข้าของตลาด ข้อมูลหรือช่องทางการกระจายสินค้าและการจัดตั้งคลังสินค้า ปัญหาค่าเงินบาทที่มีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นเรื่อยๆ เป็นอุปสรรคต่อตลาดส่งออกอย่างไรบ้าง ประเภทของตัวอย่างสินค้าที่ต้องใช้การตรวจสอบทางห้องปฏิบัติการ และหากต้องการหาคู่ค้า หรือตัวแทนในตลาดจะมีวิธีอย่างไรหรือติดต่อหน่วยงานใด เป็นต้น
กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ จะจัดงานสัมมนาให้คำปรึกษาแก่ผู้ประกอบการเกี่ยวกับการทำธุรกิจในตลาดต่างๆ อีกครั้งประมาณเดือนกันยายนนี้ โดยจะมีผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ จากภูมิภาคต่างๆ ทั่วโลก เป็นผู้ให้คำปรึกษา และเชิญนักธุรกิจการค้าที่มีประสบการณ์การค้าในภูมิภาคนั้นๆ มาถ่ายทอดเทคนิคและประสบการณ์ ให้ผู้ประกอบการที่สนใจฟังอีกเช่นกัน
สำหรับท่านผู้ประกอบการใดที่สนใจข้อมูลด้านการค้าระหว่างประเทศในตลาดหรือสินค้าอื่นๆ (ช่วงก่อนเดือนกันยายน) สามารถติดต่อสอบถามได้ที่สถาบันองค์ความรู้ด้านการค้าระหว่างประเทศ โทร.0-2513-1909 ต่อ 326, 329 หรือเข้าไปดูหัวข้อการสัมมนาในเว็บไซต์ www.ditp.go.th ภายใต้หัวข้อการอบรมสัมมนา