ไทยกับความสามารถในการแข่งขัน หลังเปิดเสรีอาเซียน
ขณะนี้ความสนใจเรื่อง AEC มีเพิ่มมากขึ้นเป็นลำดับ และความเข้มข้นในการกระจายข่าว จัดสัมมนา จัดประชุมเรื่องAEC ในรูปแบบต่างๆ ก็เพิ่มขึ้นด้วย ทั้งในภาคเอกชน รัฐบาล และชมรมสโมสรต่างๆ ซึ่งก็เป็นเรื่องที่น่าดีใจ ถึงแม้ความกระตือรือร้นเหล่านี้จะเกิดขึ้นช้าไปหน่อย เพราะเหลือเวลาอีกแค่ 2 ปีก็ถึงปีค.ศ. 2015 ที่ ASEAN (Association of South East Asian Nation) จะเป็น AEC แล้ว แต่ก็เชื่อว่ายังไม่สายเกินไป
มุมมองในแง่ของวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี จะมาช่วยสนับสนุนให้เราเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันได้อย่างไร สาเหตุที่มองในแง่วิทยาศาสตร์เทคโนโลยี เพราะประเทศไทยได้มาอยู่ในจุดที่ไม่สามารถใช้ราคาเป็นเครื่องมือในการแข่งขันได้อีกแล้ว ยิ่งในกลุ่มประเทศอาเซียนด้วยกันเพราะต้นทุนของเรานับวันก็จะสูงขึ้นทุกที ค่าแรงที่เพิ่มขึ้นเป็น 300 บาท แล้วก็ยังค่าพลังงานที่จะเพิ่มขึ้นตามมา ถ้ามองในกลุ่มประเทศอาเซียนโดยไม่นับบรูไน (เพราะเขาส่งออกเพียงน้ำมัน) ไทยก็นับเป็นประเทศที่มีต้นทุนการผลิตสูงที่สุด ส่วนสิงคโปร์นั้นไม่ต้องพูดถึง เนื่องจากเป็นประเทศค้าขายที่เรียกว่า Trading Country คือซื้อมาขายไปเหมือนพ่อค้าคนกลางหรือไม่ก็ขายบริการ เช่น ธนาคาร ไม่ใช่ประเทศที่ผลิตเองในประเทศด้วย ดังนั้นแม้ค่าครองชีพเขาจะสูง เขาก็ยังแข่งขันได้ และเขาก็เป็นประเทศที่ใช้ความรู้เป็นพื้นฐาน (Knowledge Based) มานานจนจะก้าวไปสู่ยุคอื่นแล้วแต่ประเทศไทยนี่สิ ถ้าผู้นำหรือที่เขาเรียกว่าผู้มีอำนาจทางการเมือง (Political Master) ยังไม่ให้ความสนใจ หรือไม่เข้าใจเรื่องวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรมอย่างแท้จริง ว่าจะช่วยเศรษฐกิจของประเทศได้ โอกาสในการแข่งขันในอนาคตของไทยก็น่าจะสดใส
สหรัฐเองก็ภูมิอกภูมิใจมากที่ประธานาธิบดี บารัก โอบามา ในคราวที่ได้รับเลือกตั้งกลับมาครั้งนี้พูดถึงเรื่องทรัพย์สินทางปัญญาในที่ต่างๆ กันถึง 5 ครั้งไปแล้ว สหรัฐทราบแล้วว่าจะเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในตลาดโลกของตนเพื่อแข่งกับจีนได้ก็ด้วยการทาวิจัยพัฒนาทางด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรมเท่านั้น แล้วไทยล่ะ บุคคลทั่วไปตระหนักแค่ไหน ภาคเอกชนตระหนักแค่ไหนรัฐบาลเอง โดยเฉพาะผู้นำรัฐบาลและเจ้ากระทรวงที่เกี่ยวข้องเข้าใจและตระหนักบ้างไหม
ลองมาดูอันดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยที่ต่างประเทศเขาจัดอันดับกันบ้าง ที่จริงมีหลายแห่งที่จัดอันดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศต่างๆ แต่ที่น่าเชื่อถือและใช้อ้างอิงกันมากก็คือ WEF หรือ World Economic Forum และ IMD หรือ The International Institute for Management Development ซึ่งในที่นี้ผู้เขียนขอนาการจัดอันดับของ IMD ในปีนี้มาให้ดูกัน ที่เลือก IMD เพราะดูจะแพร่หลายกว่า เพราะทามาตั้งแต่ปีค.ศ. 1989 และออกมาเป็นรายงานประจำปีทุกปี โดยเขาดูจากประเทศประมาณ 56 ประเทศและดูจากเรื่องใหญ่ๆ 4 ด้านด้วยกัน คือ
1) ผลการดำเนินงานด้านเศรษฐกิจ(Economic Performance) ของประเทศ 59 ประเทศ โดยดูจากเศรษฐกิจภายในประเทศการค้าระหว่างประเทศ การลงทุนระหว่างประเทศ และค่าครองชีพ เป็นต้น
2) ประสิทธิภาพของรัฐบาล (Government Efficiency) โดยดูจากนโยบายรัฐบาลว่าเอื้อต่อความสามารถในการแข่งขันมากน้อยเพียงใดเช่น นโยบายการเงิน นโยบายการคลัง กรอบการดำเนินงานของหน่วยงานของรัฐบาล และองค์กรต่างๆ (Institutional Framework) รวมทั้งกฎหมายและกฎเกณฑ์ต่างๆ ที่รัฐบาลกำหนดขึ้น
3) ประสิทธิภาพของธุรกิจของประเทศ(Business Efficiency) โดยดูจากสภาวะแวดล้อมของประเทศว่าเอื้ออำนวยให้ธุรกิจและองค์กรต่างๆ สามารถดำเนินงานและดำเนินธุรกิจได้อย่างสร้างสรรค์หรือไม่เพียงใด ทำให้มีกำไร รวมถึงมีความรับผิดชอบหรือไม่ เช่น เรื่องตลาดแรงงาน เป็นอย่างไร การเงินเป็นอย่างไร ทัศนคติและค่านิยมเป็นอย่างไร เป็นต้น
4) โครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure) โดยไม่ได้ดูเฉพาะถนน การขนส่ง แต่ดูรวมไปถึงโครงสร้างพื้นฐานทางด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและสุขภาพด้วย ตรงนี้ล่ะที่ชัดเจนมากว่าไทยอยู่อันดับเกือบจะท้ายๆ เลยทีเดียว
ถ้าจะดูจาก Landscape ที่ผู้เขียนได้รับความอนุเคราะห์จาก สวทน. (สำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ) จะเห็นได้ว่าโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคนิคไทยอยู่ถึงลำดับที่ 50 จากทั้งหมด 59 ประเทศ ด้านวิทยาศาสตร์ไทยอยู่ที่ลำดับ 40 ด้านสาธารณสุขและการศึกษาไทยอยู่ลำดับที่ 52 เท่ากันทั้งคู่
อันดับที่ผู้เขียนยกมานี้ ไม่ใช่จะหยิบยกมาเพื่อดูแค่การจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศเพียงเท่านั้น แต่ต้องการชี้ให้เห็นนัยอื่นๆอีกโดยเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับการวิจัยพัฒนาทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่ได้พูดไว้ในตอนต้นว่า จำเป็นมากเมื่อเป็นAEC แล้ว หากไทยต้องการจะแข่งขันกับประเทศอื่นๆในอาเซียน
ที่มา : พวงรัตน์ อัศวพิศิษฐ์ (โพสต์ทูเดย์)