ผู้เชี่ยวชาญ แนะรายย่อยปรับตัวคว้าโอกาสเศรษฐกิจใหม่ รับมือ AEC
ทุกภาคส่วนทั้งรัฐและเอกชนต่างตื่นตัวให้ความสำคัญกับผู้ประกอบการรายย่อยหรือSMEs ด้วยถือเป็นกองทัพมดทางเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศที่ต้องเร่งผลักดันและกระตุ้นยาแรงเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและขีดความสามารถในการแข่งขันในตลาดต่างประเทศ โดยเฉพาะเตรียมพร้อมเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ในปี2558
โฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ ประธานกรรมการบริหารธนาคารกรุงเทพ กล่าวในงานสัมมนา “ก้าวต่อไปของSMEsไทย” จัดโดย ธนาคารกรุงเทพ และชมรมบัวหลวงSMEs ว่า ผู้ประกอบการSMEsไทยในปัจจุบันจำเป็นต้องปรับตัวเปลี่ยนตามโครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศที่พัฒนามากขึ้น โดยเฉพาะภาคการผลิตที่นับจากนี้ไปไทยจะไม่ใช่ประเทศที่มีค่าแรงต่ำอีกต่อไป
นอกจากนี้ ผู้ประกอบการต้องมองหาตลาดใหม่ เพราะในอนาคตจะไม่ใช่การทำตลาดสินค้าราคาถูก เพื่อตอบสนองผู้บริโภคภายในประเทศเท่านั้น ดังนั้นทุกภาคส่วนต้องปรับเปลี่ยนโครงสร้างภายในองค์กรใหม่ รองรับกับโครงสร้างเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงไป
อรรจน์สิทธิ สร้อยทอง ผู้อำนวยการศูนย์พัฒนาลงทุนไทยในต่างประเทศ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) กล่าวว่า ขณะนี้บีโอไอได้จัดทำแผนส่งเสริมการลงทุนปี 2556 เพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการไทยเข้าไปลงทุนในต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศเพื่อนบ้านจากช่วงที่ผ่านมานโยบายขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศจะให้ความสำคัญด้านการส่งออก
นอกจากนี้ บีโอไอยังมุ่งให้ความสำคัญในการส่งเสริมผู้ประกอบการSMEsไทยที่ต้องการขยายตลาดหรือการลงทุนในต่างประเทศด้วย ส่วนหนึ่งเพื่อป้องกันความเสี่ยงในอนาคตหากได้รับผลกระทบจากการทำตลาดส่งออก โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศยุโรปที่ประสบปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจในช่วงที่ผ่านมา
ทั้งนี้ บีโอไอเห็นว่าโมเดลธุรกิจของไต้หวันนั้นมีความน่าสนใจที่ผู้ประกอบการธุรกิจSMEsไทยควรเข้าไปศึกษาเพื่อใช้เป็นแนวทางในการพัฒนาธุรกิจเพื่อลงทุนในต่างประเทศซึ่งจุดเด่นของSMEsไทยมีข้อได้เปรียบ คือเจ้าของธุรกิจหรือเถ้าแก่จะเป็นผู้ลงมือเข้าไปทำงานอย่างใกล้ชิดมากกว่าองค์กรขนาดใหญ่ที่ใช้มืออาชีพบริหารกิจการที่อาจตัดสินใจได้ช้ากว่า
สำหรับยุทธศาสตร์ส่งเสริมการลงทุนไทยในต่างประเทศ โดยเฉพาะการลงทุนธุรกิจในภูมิภาคอาเซียน แบ่งออกเป็นดังนี้ กลุ่มประเทศกัมพูชาลาว เมียนมาร์ และเวียดนาม มุ่งธุรกิจเป้าหมายด้านธุรกิจทรัพยากรธรรมชาติ เช่น แร่ธาตุ พลังงานธุรกิจใช้แรงงานเข้มข้น เช่น เสื้อผ้าสำเร็จรูปรองเท้า อัญมณี และเครื่องประดับรวมถึงสินค้าอุปโภคบริโภค อุตสาหกรรมเกษตร แปรรูปอาหาร ส่วนกลุ่มประเทศสิงคโปร์ มาเลเซีย ฟิลิปปินส์และอินโดนีเซีย วางธุรกิจเป้าหมายด้านบริการท่องเที่ยวและกิจกรรมที่เกี่ยวข้อง เช่น ร้านอาหารโรงแรม ธุรกิจสุขภาพ สปา และความงาม รวมทั้งอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ พลังงานทดแทนเหมืองแร่ และปิโตรเคมี เมื่อทุกฝ่ายเห็นตรงกันว่าSMEsคือส่วนสำคัญในโครงสร้างเศรษฐกิจใหม่ของประเทศ การวางนโยบายที่ถูกต้องเพื่อเพิ่มความเข้มแข็งให้ผู้ประกอบการจึงเป็นเรื่องจำเป็นอย่างยิ่ง
ที่มา : โพสต์ทูเดย์